ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือ ศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นศิลาจารึกที่บันทึกประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัย ศิลาจารึกนี้ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ขณะผนวชอยู่เป็นผู้ทรงค้นพบเมื่อวันกาบสี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จ.ศ. 1214 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 17 มกราคม ค.ศ.1834 หรือ พ.ศ. 2376 ณ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย มีลักษณะเป็นหลักสี่เหลี่ยมด้านเท่า ทรงกระโจม สูง 111 ซม. หนา 35 ซม. เป็นหินทรายแป้งเนื้อละเอียดมีจารึกทั้งสี่ด้าน ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
เนื้อหาของจารึกแบ่งได้เป็นสามตอน ตอนที่หนึ่ง บรรทัดที่ 1 ถึง 18 เป็นการเล่าพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงตั้งแต่ประสูติจนเสวยราชย์ ใช้คำว่า "กู" เป็นหลัก ตอนที่ 2 ไม่ใช้คำว่า "กู" แต่ใช้ว่า "พ่อขุนรามคำแหง" เล่าถึงเหตุการณ์และธรรมเนียมในกรุงสุโขทัย และตอนที่สาม ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 ถึงบรรทัดสุดท้าย มีตัวหนังสือต่างจากตอนที่ 1 และ 2 จึงน่าจะจารึกขึ้นภายหลัง เป็นการสรรเสริญและยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตราชอาณาจักรสุโขทัย
ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อปี พ.ศ. 2546ยูเนสโกบรรยายว่า "[ศิลาจารึกนี้]ถูกพิจารณาว่าเป็นมรดกเอกสารหลักที่มีความสำคัญระดับโลก เพราะให้ข้อมูลอันมีค่าแก่แก่นหลักของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโลกหลายอย่าง" และ "การพรรณนารัฐสุโขทัยของไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 13 อย่างละเอียดหาได้ยากของมัน [ศิลาจารึกนี้] ยังสะท้อนค่านิยมสากลที่รัฐจำนวนมากทั่วโลกปัจจุบันยึดถือร่วมกัน"
ความเชื่อถือได้ของบางส่วนหรือทั้งหมดของศิลาจรึกดังกล่าวได้ถูกนำมาเป็นคำถาม พิริยะ ไกรฤกษ์ นักวิชาการที่สถาบันไทยคดีศึกษา ออกความเห็นว่า การใช้สระในศิลาจารึกนี้แนะว่าผู้สร้างได้รับอิทธิพลมาจากระบบพยัญชนะยุโรป เขาสรุปว่าศิลาจารึกนี้ถูกบางคนแต่งขึ้นในรัชกาลที่ 4 หรือไม่นานก่อนหน้านั้น นักวิชาการเห็นต่างกันในประเด็นว่าด้วยความน่าเชื่อถือของศิลาจารึกนี้ ผู้ประพันธ์บางคนอ้างว่ารอยจารึกนั้นเป็นการแต่งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งหมด บ้างอ้างว่า 17 บรรทัดแรกนั้นเป็นจริง บ้างอ้างว่ารอยจารึกนั้นพระยาลือไทยทรงแต่งขึ้น นักวิชาการไทยส่วนใหญ่ยังยึดถือความน่าเชื่อถือของศิลาจารึกนี้ รอยจารึกดังกล่าวและภาพลักษณ์ของสังคมสุโขทัยในจินตนาการยังเป็นหัวใจของชาตินิยมไทย และไมเคิล ไรท์ นักวิชาการชาวอังกฤษ เสนอแนะว่าศิลาจารึกดังกล่าวอาจถูกปลอมขึ้น ทำให้เขาถูกขู่ด้วยการเนรเทศภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย
ส่วนจิราภรณ์ อรัณยะนาค เขียนบทความแสดงทัศนะว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้ผ่านกระบวนการสึกกร่อนผุสลายมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี ใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักที่ 3 หลักที่ 45 และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ไม่ได้ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4